سورة الحجرات
Al-Hujuraat
The Inner Apartments
medinan . 18 Ayahs
بِسْمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحْمَـٰنِ ٱلرَّحِيمِ
49:1
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ لَا تُقَدِّمُوا۟ بَيْنَ يَدَىِ ٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ ۖ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ سَمِيعٌ عَلِيمٌۭ
Translation: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า (ในการกระทำใด ๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์(1) พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้
Comment: (1)คืออย่าได้เสนอแนะกิจการใด ๆ ขึ้นมาเทียบเคียงหรือเหนือกว่าคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา และคำกล่าวของร่อซูลของพระองค์ ไม่ว่าข้อเสนอนั้น ๆ จะเป็นเรื่องส่วนตัว การดำเนินชีวิตหรือเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และอย่าได้แสดงความคิดเห็นหรือตัดสินชี้ขาดเรื่องใด ๆ ก่อนที่จะกลับไปทบทวนดูคำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา และคำกล่าวของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อายะฮ์นี้ได้กำหนดหลักการที่สำคัญยิ่งของอิสลาม คือข้อชี้ขาดตัดสินในกรณีใด ๆ ก็ตาม เป็นสิทธิ์เด็ดขาดของอัลลอฮ์ ตะอาลา แต่เพียงองค์เดียว ไม่มีการท้วงติงหรือวิพากษ์วิจารณ์ในข้อตัดสิน หรือข้อใช้ข้อห้ามของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินที่เที่ยงธรรมที่สุด
49:2
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ لَا تَرْفَعُوٓا۟ أَصْوَٰتَكُمْ فَوْقَ صَوْتِ ٱلنَّبِىِّ وَلَا تَجْهَرُوا۟ لَهُۥ بِٱلْقَوْلِ كَجَهْرِ بَعْضِكُمْ لِبَعْضٍ أَن تَحْبَطَ أَعْمَـٰلُكُمْ وَأَنتُمْ لَا تَشْعُرُونَ
Translation: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าอย่าได้ยกเสียงของพวกเจ้าเหนือเสียงของนบี(2) และอย่าพูดเสียงดังกับเขา (มุฮัมมัด) เยี่ยงการพูดเสียงดังของบางคนของพวกเจ้ากับอีกบางคน(3) เพราะ (เกรงว่า) การงานต่าง ๆ ของพวกเจ้าจะสูญเสียไปโดยที่พวกเจ้าไม่รู้สึกตัว
Comment: (2)คือเมื่อพวกท่านพูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จงลดเสียงของพวกท่านลง อย่ายกเสียงให้เหนือกว่าเสียงของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
Comment: (3)คือขณะที่พวกท่านพูดกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่ายกเสียงให้ดังเหมือนกับที่พวกท่านพูดระหว่างกัน และอย่าเรียกท่านด้วยชื่อหรือสมญาของท่านเหมือนกับพวกท่านเรียกระหว่างกัน เช่นเรียกท่านว่า โอ้มุฮัมมัด แต่จงเรียกท่านว่า โอ้ท่านนบีของอัลลอฮ์ โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮ์ เป็นการยกย่องให้เกียรติแก่ท่าน
49:3
إِنَّ ٱلَّذِينَ يَغُضُّونَ أَصْوَٰتَهُمْ عِندَ رَسُولِ ٱللَّهِ أُو۟لَـٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ ٱمْتَحَنَ ٱللَّهُ قُلُوبَهُمْ لِلتَّقْوَىٰ ۚ لَهُم مَّغْفِرَةٌۭ وَأَجْرٌ عَظِيمٌ
Translation: แท้จริง บรรดาผู้ที่ลดเสียงของพวกเขา ณ ที่ร่อซูลุลลอฮ์นั้น ชนเหล่านั้น คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงทดสอบจิตใจของพวกเขาเพื่อความยำเกรง(4) สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง(5)
Comment: (4)บรรดาผู้ที่ลดเสียงของพวกเขาเมื่ออยู่ต่อหน้าท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชนเหล่านั้น อัลลอฮ์ทรงทำให้จิตใจของพวกเขาบริสุทธิ์เพื่อการยำเกรง และเพื่อฝึกจิตใจให้เป็นลักษณะประจำตัว
Comment: (5)คือในวันอาคิเราะฮ์
49:4
إِنَّ ٱلَّذِينَ يُنَادُونَكَ مِن وَرَآءِ ٱلْحُجُرَٰتِ أَكْثَرُهُمْ لَا يَعْقِلُونَ
Translation: แท้จริง บรรดาผู้ส่งเสียงเรียกเจ้าทางเบื้องหลังห้องหับเหล่านั้น ส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ใช้สติปัญญา(6)
Comment: (6)อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงกล่าวประณามอาหรับชาวชนบทที่ไม่มีมารยาทในการเรียกท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทางเบื้องหลังห้องหับ ซึ่งเป็นที่พำนักของบรรดาภริยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยลัยฮิวะซัลลัม
49:5
وَلَوْ أَنَّهُمْ صَبَرُوا۟ حَتَّىٰ تَخْرُجَ إِلَيْهِمْ لَكَانَ خَيْرًۭا لَّهُمْ ۚ وَٱللَّهُ غَفُورٌۭ رَّحِيمٌۭ
Translation: และหากว่าพวกเขาอดทนไว้จนกว่าเจ้าจะออกมาหาพวกเขาแล้ว แน่นอน มันย่อมเป็นการดีสำหรับพวกเขา(7) และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ
Comment: (7)อัลบัยฎอวีย์กล่าวว่า กล่าวกันว่า ผู้ที่ตะโกนเรียกท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ “อุยัยนะฮ์ อิบนุหุศ็อยน์” และ “อัลอักเราะฮ์ อิบนุ ฮาบิส” ซึ่งเป็นตัวแทนจากบนีตะมีม จำนวน 70 คนได้เข้ามาหาท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เวลาบ่าย ขณะที่ท่านนอนพักผ่อนอยู่
49:6
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓا۟ إِن جَآءَكُمْ فَاسِقٌۢ بِنَبَإٍۢ فَتَبَيَّنُوٓا۟ أَن تُصِيبُوا۟ قَوْمًۢا بِجَهَـٰلَةٍۢ فَتُصْبِحُوا۟ عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَـٰدِمِينَ
Translation: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด(8) หาไม่แล้วพวกเจ้าก็จะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป
Comment: (8)คือเมื่อคนชั่วช้า (ฟาซิก) คือคนที่ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์ และความยุติธรรม นำข่าวมาแจ้งแก่ท่าน ก็จงสอบสวนให้เป็นที่แจ้งชัดแน่นอนเสียก่อน หาไม่แล้วอาจจะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในเรื่องนั้น ๆ นักตัฟซีรกล่าวว่า อายะฮ์นี้ถูกประทานลงมาในเรื่องราวของอัลวะลีด อิบนฺ อุกบะฮ์ อิบนฺ อะบีมุอีฎ เมื่อท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้ไปรวบรวมซะกาตจากบนีมุศฏอลิก เมื่ออัลวะลีดเดินทางไปถึงหมู่บ้านดังกล่าว ชาวบ้านออกมาต้อนรับ แต่อัลวะลีดเข้าใจผิดคิดว่าชาวบ้านออกมาเพื่อจะมาทำร้ายเขา จึงรีบเดินทางกลับเพื่อแจ้งข่าวแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใช้วิจารณญาณ โดยส่งคอลิด อิบนุลวะลีด ไปสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเหตุการณ์หาได้เป็นตามที่อัลวะลีดรายงานไม่ อายะฮ์นี้จึงถูกประทานลงมาเพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องของบนีมุศฏอลิก
49:7
وَٱعْلَمُوٓا۟ أَنَّ فِيكُمْ رَسُولَ ٱللَّهِ ۚ لَوْ يُطِيعُكُمْ فِى كَثِيرٍۢ مِّنَ ٱلْأَمْرِ لَعَنِتُّمْ وَلَـٰكِنَّ ٱللَّهَ حَبَّبَ إِلَيْكُمُ ٱلْإِيمَـٰنَ وَزَيَّنَهُۥ فِى قُلُوبِكُمْ وَكَرَّهَ إِلَيْكُمُ ٱلْكُفْرَ وَٱلْفُسُوقَ وَٱلْعِصْيَانَ ۚ أُو۟لَـٰٓئِكَ هُمُ ٱلرَّٰشِدُونَ
Translation: และพวกเจ้าพึงรู้เถิดว่า ในหมู่พวกเจ้านั้นมีร่อซูลของอัลลอฮ์อยู่ หากเขา(มุฮัมมัด) เชื่อฟังพวกเจ้าในส่วนใหญ่ของกิจการแล้ว แน่นอนพวกเจ้าก็จะลำบากกัน(9) แต่อัลลอฮ์ทรงให้การศรัทธาเป็นที่รักแก่พวกเจ้า และทรงให้การปฏิเสธศรัทธา และความชั่วช้าและการฝ่าฝืนเป็นที่เกลียดชังแก่พวกเจ้า(10) ชนเหล่านั้นคือพวกที่ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง
Comment: (9)อิบนุกะซีรกล่าวว่า พึงรู้เถิดว่าในหมู่บ้านพวกท่านนั้นมีท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อยู่ด้วย พวกท่านจงยกย่องให้เกียรติท่าน เพราะท่านย่อมรู้ดีถึงผลประโยชน์ของพวกท่าน และมีความห่วงใยพวกท่านมากกว่าตัวของพวกท่านเอง หากท่านเชื่อฟังพวกท่านในทุกสิ่งที่พวกท่านเห็นชอบแล้วจะทำให้พวกท่านได้รับความลำบากกัน
Comment: (10)การที่อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงประทานความโปรดปรานแห่งการศรัทธาให้แก่พวกเจ้าและจะได้ทรงให้มันประดับมั่นอยู่ในดวงใจ และทรงให้การปฏิเสธศรัทธา ความชั่วช้า และการฝ่าฝืนเป็นที่เกลียดชังแก่พวกเจ้านั้น นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่ปวงบ่าวของพระองค์ ดังนั้นมุอ์มินทุกคนจะต้องรำลึกถึงบุญคุณอันนี้
49:8
فَضْلًۭا مِّنَ ٱللَّهِ وَنِعْمَةًۭ ۚ وَٱللَّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌۭ
Translation: มันเป็นคุณธรรมและความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ(11)
Comment: (11)ความโปรดปรานดังกล่าวนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำมาใช้เมื่อทำสงครามอุหุด โดยท่านได้ยืนขึ้นบรรดามุสลิมีน ได้ยืนตั้งแถวเบื้องหลังของท่าน และท่านได้กล่าวขอพรดังนี้ اللَّهُمَ حَبَّبْ إِلَيْنَا الْإِيمَانَ وَزَيِّنْهُ فِي قُلُوبِنَا، وَكَرِّهْ إِلَيْنَا الْكُفْرَ وَالْفُسُوقَ وَالْعِصْيَانَ، وَاجْعَلْنَا مِنَ الرَّاشِدِينَ
49:9
وَإِن طَآئِفَتَانِ مِنَ ٱلْمُؤْمِنِينَ ٱقْتَتَلُوا۟ فَأَصْلِحُوا۟ بَيْنَهُمَا ۖ فَإِنۢ بَغَتْ إِحْدَىٰهُمَا عَلَى ٱلْأُخْرَىٰ فَقَـٰتِلُوا۟ ٱلَّتِى تَبْغِى حَتَّىٰ تَفِىٓءَ إِلَىٰٓ أَمْرِ ٱللَّهِ ۚ فَإِن فَآءَتْ فَأَصْلِحُوا۟ بَيْنَهُمَا بِٱلْعَدْلِ وَأَقْسِطُوٓا۟ ۖ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلْمُقْسِطِينَ
Translation: และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย(12) หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง(13) พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮ์(14) ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮ์) แล้ว(15) พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด(16) แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม
Comment: (12)คือหาทางให้ทั้งสองฝ่ายยุติข้อขัดแย้งกัน และให้ประนีประนอมกันด้วยความยุติธรรม
Comment: (13)หากฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยและยังดื้อรั้นที่ปฏิบัติตามอารมณ์ของตนแล้ว
Comment: (14)คือปรามฝ่ายที่ไม่ยอมรับการประนีประนอม จนกว่าจะยอมรับข้อตัดสินของอัลลอฮ์ และเลิกทิ้งการกระทำที่เป็นศัตรูกับอีกฝ่ายหนึ่ง
Comment: (15)คือยุติการทะเลาะวิวาทหรือการสู้รบกันแล้ว
Comment: (16)คือให้มีการไกล่เกลี่ยด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย
49:10
إِنَّمَا ٱلْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌۭ فَأَصْلِحُوا۟ بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ ۚ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ
Translation: แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน(17) ดังนั้น พวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า(18) และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา
Comment: (17)ความเป็นพี่น้องกันในหมู่มุสลิมมุอ์มินนั้น ผลที่จะติดตามมาก็คือ ความรักใคร่ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือ และความร่วมมือกัน นี่คือจุดมุ่งหมายหลักของมุอ์มินผู้ศรัทธา ในอายะฮ์เป็นการบ่งชี้ว่าการเป็นพี่น้องกันในอิสลามนั้นเข้มข้นกว่าการเป็นพี่น้องทางสายเลือดหรือวงศ์ตระกูล
Comment: (18)คืออย่าให้การแตกแยกเข้ามามีบทบาท และอย่าให้การเกลียดชังระหว่างกันเข้ามาสิงสู่อยู่ในหมู่คณะ
49:11
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ لَا يَسْخَرْ قَوْمٌۭ مِّن قَوْمٍ عَسَىٰٓ أَن يَكُونُوا۟ خَيْرًۭا مِّنْهُمْ وَلَا نِسَآءٌۭ مِّن نِّسَآءٍ عَسَىٰٓ أَن يَكُنَّ خَيْرًۭا مِّنْهُنَّ ۖ وَلَا تَلْمِزُوٓا۟ أَنفُسَكُمْ وَلَا تَنَابَزُوا۟ بِٱلْأَلْقَـٰبِ ۖ بِئْسَ ٱلِٱسْمُ ٱلْفُسُوقُ بَعْدَ ٱلْإِيمَـٰنِ ۚ وَمَن لَّمْ يَتُبْ فَأُو۟لَـٰٓئِكَ هُمُ ٱلظَّـٰلِمُونَ
Translation: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยนั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีสตรีกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง(19) และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ ช่างเลวทรามจริง ๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาจะเรียกกันว่าเป็นผู้ฝ่าฝืน ภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว(20) และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม(21)
Comment: (19)ที่ว่าอย่าตำหนิตัวเอง ก็เพราะว่าบรรดามุสลิมเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน คือถ้าคนหนึ่งคนใดตำหนิก็เสมือนว่าเขาตำหนิตัวของเขาเอง
Comment: (20)อัลบัยฎอวีย์ กล่าวว่า ในอายะฮ์นี้เป็นการบ่งชี้ถึงการเรียกชื่อกันด้วยฉายาว่าเป็นพฤติกรรมที่เลวทราม เพราะพฤติกรรมที่เลวทรามกับการศรัทธานั้นเป็นที่น่ารังเกียจจะรวมอยู่ด้วยกันไม่ได้
Comment: (21)คือจะได้รับการลงโทษ
49:12
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ ٱجْتَنِبُوا۟ كَثِيرًۭا مِّنَ ٱلظَّنِّ إِنَّ بَعْضَ ٱلظَّنِّ إِثْمٌۭ ۖ وَلَا تَجَسَّسُوا۟ وَلَا يَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا ۚ أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن يَأْكُلَ لَحْمَ أَخِيهِ مَيْتًۭا فَكَرِهْتُمُوهُ ۚ وَٱتَّقُوا۟ ٱللَّهَ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ تَوَّابٌۭ رَّحِيمٌۭ
Translation: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! พวกเจ้าจงปลีกตัวให้พ้นจากส่วนใหญ่ของการสงสัย(22) แท้จริงการสงสัยบางอย่างนั้นเป็นบาป(23) และพวกเจ้าอย่าสอดแนม(24) และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน(25) คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ? พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน(26) และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ(27)
Comment: (22)จงทำตัวให้ห่างไกลจากการสงสัย การไม่ซื่อสัตย์ และการนึกร้ายต่อญาติพี่น้องและมหาชนทั่วไป ที่ว่า “ส่วนใหญ่การสงสัย” นั้นเพื่อเป็นการระมัดระวังในทุก ๆ การกระทำดังกล่าว อย่ารีบด่วนในการนึกคิดแต่จงพินิจพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงเสียก่อน
Comment: (23)คือจะได้รับการลงโทษ
Comment: (24)คือสืบเสาะหรือค้นหาความลับของพี่น้องมุสลิม
Comment: (25)คืออย่ากล่าวถึงความไม่ดีงามของผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่ชอบที่จะให้กล่าวถึงเป็นการลับหลัง
Comment: (26)เป็นการยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบถึงการกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายแล้วว่ามันเป็นที่น่ารังเกียจเพียงใด ดังนั้นการนินทามุสลิมด้วยกันจึงเป็นที่น่ารังเกียจยิ่งกว่า และโทษของมันก็ร้ายแรงยิ่งกว่า
Comment: (27)แก่ผู้ที่มีความยำเกรงอัลลอฮ์ ตะอาลา สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว ในตอนท้ายของอายะฮ์นี้เป็นการสนับสนุนให้มีการขออภัยโทษ ชอบให้มีการเสียสละ และสารภาพผิดเพื่อมิให้มนุษย์หมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์
49:13
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَـٰكُم مِّن ذَكَرٍۢ وَأُنثَىٰ وَجَعَلْنَـٰكُمْ شُعُوبًۭا وَقَبَآئِلَ لِتَعَارَفُوٓا۟ ۚ إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ ۚ إِنَّ ٱللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌۭ
Translation: โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง(28) และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน(29) แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า(30) แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
Comment: (28)คือได้สร้างมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน คืออาดัมและเฮาวาอ์
Comment: (29)ความแตกต่างระหว่างเผ่า ตระกูล และประชาชาติ หรือความแตกต่างทางภาษา คำพูด ผิวพรรณ ขนบธรรมเนียมประเพณีมิได้เป็นสาเหตุให้มีการแตกแยกเป็นศัตรูกัน แต่เพื่อให้มีการรู้จักกันปรึกษาหารือกัน และร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
Comment: (30)คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์นั้น อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงกำเนิด นั่นก็คือผู้ที่มีเกียรติที่สุด ณ อัลลอฮ์ คือผู้ที่มีความยำเกรงพระองค์มากที่สุด ผู้ที่รักษาขอบเขตและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
49:14
۞ قَالَتِ ٱلْأَعْرَابُ ءَامَنَّا ۖ قُل لَّمْ تُؤْمِنُوا۟ وَلَـٰكِن قُولُوٓا۟ أَسْلَمْنَا وَلَمَّا يَدْخُلِ ٱلْإِيمَـٰنُ فِى قُلُوبِكُمْ ۖ وَإِن تُطِيعُوا۟ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ لَا يَلِتْكُم مِّنْ أَعْمَـٰلِكُمْ شَيْـًٔا ۚ إِنَّ ٱللَّهَ غَفُورٌۭ رَّحِيمٌ
Translation: อาหรับชาวชนบทกล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า พวกท่านยังมิได้ศรัทธา แต่จงกล่าวเถิดว่า เราเข้ารับอิสลามแล้ว เพราะการศรัทธายังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน(31) และถ้าหากพวกท่านเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์แล้ว พระองค์จะไม่ทำให้การงานของพวกท่านด้อยลงแต่ประการใด(32) แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ
Comment: (31)มีอาหรับชนบทกลุ่มหนึ่งจากบนีอะสัด อิบนฺ คุซัยมะฮ์ ได้เดินทางมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในปีแห้งแล้ง แต่ความจริงแล้วพวกเขามิได้มีการศรัทธาแต่ประการใด พวกเขาได้พูดทวงบุญคุณกับท่านนบี เพื่อขอศ่อดะเกาะฮ์จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อัลลอฮ์ ตะอาลา จึงประทานอายะฮ์นี้ลงมาเพื่อชี้แจงสภาพความเป็นจริงของอาหรับชนบทกลุ่มนี้
Comment: (32)คือปฏิบัติตามโดยเปิดเผยและเร้นลับด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยการศรัทธาอย่างแท้จริง แล้วคุณงามความดีต่าง ๆ ที่ได้กระทำไปนั้น จะไม่ทำให้การตอบแทนจากอัลลอฮ์ลดน้อยถอยลงแต่ประการใด
49:15
إِنَّمَا ٱلْمُؤْمِنُونَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ بِٱللَّهِ وَرَسُولِهِۦ ثُمَّ لَمْ يَرْتَابُوا۟ وَجَـٰهَدُوا۟ بِأَمْوَٰلِهِمْ وَأَنفُسِهِمْ فِى سَبِيلِ ٱللَّهِ ۚ أُو۟لَـٰٓئِكَ هُمُ ٱلصَّـٰدِقُونَ
Translation: แท้จริงศรัทธาชนที่แท้จริงนั้น คือ บรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ แล้วพวกเขาไม่สงสัยเคลือบแคลงใจ แต่พวกเขาได้เสียสละต่อสู้ดิ้นรนด้วยทรัพย์สมบัติของพวกเขา และชีวิตของพวกเขาไปในหนทางของอัลลอฮ์(33) ชนเหล่านั้นแหละคือบรรดาผู้สัตย์จริง
Comment: (33)จากลักษณะของมุอ์มินศรัทธาอย่างแท้จริงในอายะฮ์นี้ พอสรุปได้ว่า การอีมานคือการศรัทธา เชื่อมั่นที่ถูกซ่อนเร้นไว้ภายใน และอิสลามคือการปฏิบัติที่ปรากฏให้เห็นคือการกระทำ
49:16
قُلْ أَتُعَلِّمُونَ ٱللَّهَ بِدِينِكُمْ وَٱللَّهُ يَعْلَمُ مَا فِى ٱلسَّمَـٰوَٰتِ وَمَا فِى ٱلْأَرْضِ ۚ وَٱللَّهُ بِكُلِّ شَىْءٍ عَلِيمٌۭ
Translation: จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจะบอกอัลลอฮ์เกี่ยวกับศาสนาของพวกท่านกระนั้นหรือ? อัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง(34)
Comment: (34)คำถามในอายะฮ์นี้เป็นการปฏิเสธคำกล่าวอ้างของอาหรับชนบทกลุ่มดังกล่าวที่ไป กล่าวยืนยันและสาบานกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าพวกเขาเป็นมุอ์มินผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง อัลลอฮ์ ตะอาลา จึงตรัสตอบเป็นการปฏิเสธคำกล่าวอ้างของพวกเขาและเป็นการปรามพวกเขาอีกด้วย เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในที่เร้นลับและเปิดเผยว่า คำพูดของพวกเขานั้นเป็นความจริงหรือไม่?
49:17
يَمُنُّونَ عَلَيْكَ أَنْ أَسْلَمُوا۟ ۖ قُل لَّا تَمُنُّوا۟ عَلَىَّ إِسْلَـٰمَكُم ۖ بَلِ ٱللَّهُ يَمُنُّ عَلَيْكُمْ أَنْ هَدَىٰكُمْ لِلْإِيمَـٰنِ إِن كُنتُمْ صَـٰدِقِينَ
Translation: พวกเขาถือเป็นบุญคุณแก่เจ้าว่าพวกเขาได้รับอิสลามแล้ว(35) จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านอย่าถือเอาการเป็นอิสลามของพวกท่านมาเป็นบุญคุณแก่ฉันเลย แต่ทว่าอัลลอฮ์ทรงประทานบุญคุณแก่พวกท่านต่างหาก(36) โดยชี้นำพวกท่านสู่การศรัทธา หากพวกท่านเป็นผู้สัตย์จริง
Comment: (35)อาหรับชนบทกลุ่มดังกล่าวได้มาทวงบุญคุณกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึงการเข้าอิสลามของพวกเขา
Comment: (36)อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงตอบโต้เรื่องการทวงบุญคุณดังกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์ต่างหากที่เป็นเจ้าของบุญคุณเพราะอีมานนั้น นับได้ว่าเป็นนิอ์มะฮ์ และบุญคุณอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงประทานแก่บ่าวของพระองค์
49:18
إِنَّ ٱللَّهَ يَعْلَمُ غَيْبَ ٱلسَّمَـٰوَٰتِ وَٱلْأَرْضِ ۚ وَٱللَّهُ بَصِيرٌۢ بِمَا تَعْمَلُونَ
Translation: แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และอัลลอฮ์ทรงเห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ(37)
Comment: (37)แม้ว่าอายะฮ์นี้จะเป็นการสนทนากับอาหรับชนบทเพื่อให้พวกเขาได้รู้ การที่พวกเขามาทวงบุญคุณ ในการเข้าอิสลามกับท่านนบีนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงรอบรู้ทุกสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในจักรวาลทั้งมวล ในขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันแก่คนทั่ว ๆ ไปด้วยว่า กิจการงานทุกสิ่งของมนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมจะไม่รอดพ้นไปจากการสอดส่องดูแลของพระองค์ ดังนั้นผู้มีจิตสำนึก น่าจะพิจารณาใคร่ครวญเพื่อให้เกิดความยำเกรงตักวา และเมื่อความยำเกรงเกิดขึ้นในจิตใจของเขาแล้ว ก็จะมีการตอบรับด้วยการเชื่อฟัง และการปฏิบัติอย่างแท้จริง